วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประวัติกรุงเทพมหานคร

                                                                    
                                                              ประวัติย่อของกรุงเทพฯ

      เดิมเรียกกันว่า "เมืองบางกอก" ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้
          เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ คงมีพื้นที่เฉพาะเขตกำแพงเมืองเท่านั้น คือ กำแพงเมืองยาวประมาณ 7 กิโลเมตร ด้านตะวันออก เลียบตามแนวคูเมืองที่ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางลำพู มาออกแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านทิศใต้ใกล้สะพานพุทธยอดฟ้าฯ เรียกว่า คลองบางลำพู และคลองโอ่งอ่างด้านตะวันตก ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคูเมืองแต่มิได้สร้างกำแพงเมืองเหมือนด้านตะวันออก รายรอบกำแพงเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยามีป้อมอยู่ 14 ป้อม มีประตูเมืองขนาดใหญ่ 16 ประตู ประตูเมืองขนาดเล็ก ที่เรียกว่าช่องกุดอีก 47 ประตู เนื้อที่ในครั้งนั้นมีเพียง 2,163 ไร่ พื้นที่นอกกำแพงเป็นทุ่งนาปลูกข้าว
          อาณาเขตของกรุงเทพฯ ในขั้นแรกถือเอาแนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรีคือแนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานปิ่นเกล้า เป็นบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 1.8 ตร.กม.
          บริเวณที่สร้างพระราชวังนั้น เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของพระยาราชเศรษฐีและชาวจีน ซึ่งได้โปรดให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวีเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองบางกอกขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่แทนกรุงธนบุรี โดยสืบทอดศิลปวัฒนธรรมจากกรุงศรีอยุธยา ทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 แล้วทรงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325 ทรงพระราชทานนามพระนครนี้ว่า

          "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลก ภพนพรัตน์ราชธานี บุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกะทัตติยะ วิษณุกรรมประสิทธิ"
 





          เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามพระนครจาก "บวรรัตนโกสินทร์" เป็น "อมรรัตนโกสินทร์" ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลได้รวมจังหวัดพระนครและธนบุรีเป็น "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็น "กรุงเทพมหานคร" แต่นิยมเรียกกันว่า "กรุงเทพฯ"
          กรุงเทพมหานครในปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคม ขนส่ง การเงิน การธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร ฯลฯ แบ่งการปกครองเป็น 50 เขต โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 1,562.2 ตร.กม.
          กรุงเทพฯ มีพัฒนาการมาจากย่านเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ซึ่งมีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาแล้วก่อนที่จะมีการขุดคลองลัด ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปถึงวัดอรุณราชวรารามในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เส้นทางเดิมของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลอ้อมขดเคี้ยวกินพื้นที่เข้าไปในฝั่งธนบุรีหรือที่ปัจจุบันกลายเป็นคลองชื่อ "บางกอกน้อย" , "บางกอกใหญ่"
          ในสมัยอยุธยาแม้แม่น้ำเจ้าพระยาจะขดเคี้ยว แต่ก็เป็นเส้นทางเดินเรือในการติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้เส้นทางสัญจรสายนี้คับคั่งไปด้วยเรือสินค้าเข้าออก และก่อให้เกิดชุมชนริมแม่น้ำขึ้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ค้นพบว่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ามีชุมชนเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว นั่นคือชุมชนชาวสวนย่าน "บางเชือกหนัง" , "บางระมาด" , "บางจาก" ชื่อย่านเหล่านี้ได้ปรากฏในโคลงกำสรวลสมุทร ซึ่งเป็นวรรณกรรมสมัยต้นอยุธยา และชื่อย่านเหล่านี้ยังคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบัน
          ชุมชนริมน้ำเหล่านี้ได้ขยายตัวขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อมีการขุดคลองลัดตัดตรงในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เพื่อย่นระยะทางไม่ต้องเดินทางอ้อมไกลอีกต่อไปการสัญจรหลักที่ใช้ขึ้นล่องระหว่างกรุงศรีอยุธยากับทะเลจึงหันมาใช้เส้นทางสายใหม่ พร้อมๆกับการขยายตัวของชุมชนมายังริมแม่น้ำสายใหม่ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นในชื่อย่าน "บางกอก" และพัฒนาต่อมากลายเป็น "เมืองธนบุรี" เมืองการค้า การคมนาคมแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา
          หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกและสมเด็จพระเจ้าตากสินได้กอบกู้บ้านเมืองขึ้นแล้วทรงเลือกเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ ซึ่งเป็นเมืองอกแตก เพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมือง ตั้งพระราชวังอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ปรับเปลี่ยนผังเมืองเสียใหม่ด้วยการย้ายมาสร้างเมืองทางฝั่งตะวันออกเพียงฝั่งเดียวโดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองธนบุรีฝั่งตะวันออกพร้อมกับขยายกำแพงเมือง และขุดคูเมืองใหม่ให้ใหญ่ขึ้น ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกหรือที่ปัจจุบันเรียกว่า "ฝั่งธนบุรี" ก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและชุมชนชาวสวนเช่นเดิม                                                                           "ราชธานีแห่งใหม่ได้พัฒนาและขยายขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งกลายเป็นกรุงเทพมหานครในทุกวันนี้"

ประวัติ "สุนทรภู่"

 วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน ประวัติและผลงานของสุนทรภู่มีความเป็นมาอย่างไร กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่ มีอะไรบ้าง เรามีบทความเรื่องนี้มาฝากกัน 

          ถ้าเอ่ยชื่อ "สุนทรภู่" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลก โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี" จนได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม  หรือ "มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" และคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" ซึ่งมักจะมีการจัดนิทรรศการ ประกวดแต่งคำกลอน เพื่อแสดงถึงการรำลึกถึง เพราะฉะนั้น วันนี้กระปุกดอทคอมจึงไม่พลาด ขอพาไปเปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" ให้มากขึ้นค่ะ...

ชีวประวัติ "สุนทรภู่"

          สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 08.00 น. นั่นเอง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน)

          บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ชื่อพ่อพลับ ส่วนมารดาเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อแม่ช้อย สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม อีกด้วย

          "สุนทรภู่" ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว 20 ปี

          ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ "พ่อพัด" ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป 


          หลังจากนั้น สุนทรภู่ ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และเขาก็ได้แต่ง "นิราศพระบาท" พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย และหลังจาก "นิราศพระบาท" ก็ไม่ปรากฏผลงานใด ๆ ของสุนทรภู่อีกเลย

          จนกระทั่งเข้ารับราชการในปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

          ต่อมาในราว พ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และเชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง "สวัสดิรักษา" ในระหว่างเวลานี้ ซึ่งในระหว่างรับราชการอยู่นี้ สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ "พ่อตาบ"
          "สุนทรภู่" รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่าง ๆ หลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ, วัดแจ้ง, วัดโพธิ์, วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่าง ๆ มากมาย งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385

          ทั้งนี้ ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขา รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษา ก็ลาสิกขา และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม รวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย 
          ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังในปี พ.ศ. 2394 และรับราชการต่อมาได้ 4 ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) ที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" 
          สำหรับทายาทของสุนทรภู่นั้น เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย 3 คน คือ "พ่อพัด" เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน, "พ่อตาบ" เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และ "พ่อนิล" เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อ "พ่อกลั่น" และ "พ่อชุบ" อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า "ภู่เรือหงส์"

ผลงานของสุนทรภู่
          หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ…

 ประเภทนิราศ 
          - นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง

          - นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา

          - นิราศภูเขาทอง  (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง

          - นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา

          - นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา

          - รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา

          - นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) –เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี

          - นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร

ประเภทนิทาน
          เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์, เรื่องสิงหไกรภพ


ประเภทสุภาษิต          - สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์

          - สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่

          - เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

ประเภทบทละคร          - เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประเภทบทเสภา
          - เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)

          - เรื่องพระราชพงศาวดาร

ประเภทบทเห่กล่อม
          แต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร และเห่เรื่องกากี


ตัวอย่างวรรคทองที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่

          ด้วยความที่สุนทรภู่เป็นศิลปินเอกที่มีผลงานทางวรรณกรรม วรรณคดีมากมาย ทำให้ผลงานหลาย ๆ เรื่องของ สุนทรภู่ ถูกนำไปเป็นบทเรียนให้เด็กไทยได้ศึกษา จึงทำให้มีหลาย ๆ บทประพันธ์ที่คุ้นหู หรือ "วรรคทอง" ยกตัวอย่างเช่น


บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย

ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ



***********************


ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา


บางตอนจาก นิราศอิเหนา

จะหักอื่นขืนหักก็จักได้
หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก
สารพัดตัดขาดประหลาดนัก
แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ

บางตอนจาก พระอภัยมณี


บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา
ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)


***********************

แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

(พระฤาษีสอนสุดสาคร)


***********************


อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
แค่องค์พระปฏิมายังราคิน
คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา


***********************


เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก    
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นรักจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล


***********************


ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา

แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง

แม้เป็นถ้ำอำไพใคร่เป็นหงส์
จะร่อนลงสิงสู่เป็นคู่สอง
ขอติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

(ตอน พระอภัยมณีเกี้ยวนางละเวง ได้ถูกนำไปดัดแปลงเล็กน้อยกลายเป็นเพลง "คำมั่นสัญญา")


บางตอนจาก เพลงยาวถวายโอวาท

อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย


***********************


อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ

บางตอนจาก สุภาษิตสอนหญิง

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง
อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน


***********************

จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึ้งขึ้นมึงกู
คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ


***********************

เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก
จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา
จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ


***********************

รู้วิชาก็ให้รู้เป็นครูเขา
จึงจะเบาแรงตนช่วยขวนขวาย
มีข้าไทใช้สอยค่อยสบาย
ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง


บางตอนจาก ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก
ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน
จะกินนอนวอนว่า เมตตาเตือน
จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย


***********************


ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
เจ้าจงอุตส่าห์ทำสม่ำเสมียน

(ขุนแผนสอนพลายงาม)

บางตอนจาก นิราศภูเขาทอง

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ

บางตอนจาก นิราศพระบาท

เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น
เพราะดั้นด้นอยากลิ้มชิมรสหวาน
ครั้นได้รสสดสาวจากจาวตาล
ย่อมซาบซ่านหวานซึ้งตรึงถึงทรวง

ไหนจะยอมให้เจ้าหล่นลงเจ็บอก
เพราะอยากวกขึ้นลิ้นชิมของหวง
อันรสตาลหวานละม้ายคล้ายพุ่มพวง
พี่เจ็บทรวงช้ำอกเหมือนตกตาล... 


ที่มาของวันสุนทรภู่          องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปีขึ้นไปเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

          ในการนี้ รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ และได้ประกาศยกย่อง "สุนทรภู่" ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปีเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่" ซึ่งนับแต่นั้น เมื่อถึงวันสุนทรภู่ จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ "วัดเทพธิดาราม" และที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไป

          ทั้งนี้ ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ไว้ที่ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นกำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติ ในวันสุนทรภู่
          1. มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงาน
          2. มีการแสดงผลงานประเภทนิทานของสุนทรภู่
          3. มีการประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่

ประวัติมหาสารคาม

                                                      
                                            ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ประวัติมหาสารคาม
มหาสารคามได้รับการแต่งตั้งเป็นเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2408 แต่ก่อนจะตั้งเป็นเมืองมหาสารคามนั้น บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์มานาน บางยุค บางสมัยก็รุ่งเรือง บางยุคสมัยก็เสื่อมโทรม ตามบันทึกของหลวงอภิสิทธิ์สารคาม (บุดดี) ตลอดจนประวัติศาสตร์ภาคอีสานและเมืองมหาสารคาม ของ บุญช่วย อัตถากร ระบุว่า ท้าวมหาชัย (กวด) พาผู้คนออกจากเมืองร้อยเอ็ดมาทางทิศตะวันตก ประมาณ 1,000 เส้น จึงหยุดตั้งอยู่บริเวณที่ดอน แต่ราษฎรนิยมเรียกว่า “วัดข้าวฮ้าว” อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน เห็นว่าขาดแคลนแหล่งน้ำ จึงย้ายมาตั้งระหว่างกุดยางใหญ่กับหนองท่ม ซึ่งเป็นที่ชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่บ้างแล้ว คือ บ้านจาน ประกอบกับห่างออกไปเล็กน้อยก็เป็นห้วยตะคาง จึงนับว่าเป็นชัยภูมิที่มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ เมืองมหาสารคามเมื่อแรกตั้งอยู่ในความดูแลบังคับบัญชาของพระขัติยวงษา (จัน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอรับพระราชทาน “บ้านลาด กุดยางใหญ่” เป็นเมือง ของท้าวมหาชัย (กวด) เป็นเจ้าเมือง
ราชสำนักได้มีสารตรามาถึงพระขัติยวงษา (จัน) ลงวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1227 ซึ่งตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม 2408 ดังข้อความตอนหนึ่งว่า
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งเจ้าพระยาภูธราภัย ฯ พร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมาไล่เลียงแลทำแผนที่เมืองจะตั้งใหม่ เห็นการไม่เกี่ยวข้องแก่บ้าน แก่เมืองใดแล้ว จึงโปรดเกล้า ฯ ขนานนามบ้านลาดกุดยางไย เป็นเมืองมหาษาร ตามพระราชทานนามสัญญาบัติ ประทับพระราชลัญจกอร ตั้งท้าวมหาไชยเป็นที่พระเจริญราชเดช เจ้าเมือง ทำราชการขึ้นแก่เมืองร้อยเอ็ด ให้พระราชทานท้าวมหาไชย ผู้เป็นที่พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคาม
เมืองมหาสารคาม นับเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของชาวอีสาน มีชุมชนโบราณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านเชียงเหียน หมู่บ้านปั้นหม้อของชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคามแหล่งโบราณสถาน และสถานที่สำคัญทางศาสนาก็มี พระธาตุนาดูน กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน กู่บ้านแดง อำเภอวาปีปทุมปรางค์กู่ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม ที่น่ามาศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันจังหวัดมหาสารคามเป็นเมือง ตักสิลา เมืองการศึกษาของชาวเมืองตักสิลา เมืองการศึกษาของชาวอีสาน มีทั้ง มหาวิทยาลัยมหาสารคามมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยอาชีวศึกษา รวมทั้งสถานศึกษาอุดมศึกษาของภาคเอกชน ซึ่งในช่วงเปิดภาคเรียนจังหวัดมหาสารคาม จะครึกครื้นไปด้วยนักศึกษาจากต่างถิ่นที่มาศึกษาหาความรู้จากสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดมหาสารคาม

ประวัติจังหวัดเพชรบูรณ์



          จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองโบราณ ที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครสร้างเมืองนี้ขึ้นเมื่อใดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงวิเคราะห์ว่า เพชรบูรณ์สร้างขึ้นมา 2 ยุค ในแห่งเดียวกัน วัดมหาธาตุและวัดโบราณเป็นหลักฐานยืนยันว่า ยุคแรกสร้างเมื่อ เมืองเหนือคือ กรุงสุโขทัย หรือ พิษณุโลกเป็นเมืองหลวง มีลำน้ำอยู่กลางเมือง กำแพงเมืองกว้างยาวด้านละ 800 เมตร ยุคที่สอง สร้างในสมัย สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช มีป้อมและกำแพงก่อด้วยอิฐปูนศิลา แต่เล็กและเตี้ยกว่า มีแม่น้ำอยู่กลางเมือง กำแพงเมือง ขนาดเล็กลง ตั้งอยู่ทางป่าด้านเหนือ เพื่อป้องกันศัตรู ส่วนทางด้านใต้เป็นไร่นา จากหลักฐานการค้นพบซากโบราณสถาน และจากหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์ ที่ค้นพบ ในเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับเมือง พิมาย. ลพบุรี และจันทบุรี ดังหลักฐานที่ประกฎ เช่น ซากตัวเมืองและพระปรางค์ บริเวณที่ตั้งเมือง เป็นที่ราบ มีกำแพงดินสูงรอบเมือง และล้อมรอบ ด้วยคูเมือง ภายในเมืองมีพระปรางค์ ซากเทวสถาน รูปเทพารักษ์ พระนารายณ์ รูปยักษ์สลักด้วยศิลาแล

เมืองเก่าศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ


ชื่อ
เมืองเก่าศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
สถานที่ตั้ง
เมืองศรีเทพ เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ห่างจากฝั่ง ซ้ายของแม่น้ำป่าสักประมาณ ๘ กม.


ประวัติความเป็นมาไปใน ที่สุดหปัจจุบันเมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซากเมืองโบราณนี้ถูกพบครั้ง แรกในขณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเดินทางไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ ใน พ.ศ.๒๔๔๘ ลักษณะของเมืองโบราณมีคูน้ำและกำแพงดินขนาดใหญ่มากล้อมรอบ เป็นรูปวงกลมซ้อนกันอยู่ ๒ วง ซึ่ง สันนิษฐานกันว่าแนวคูเมือง กำแพงเมืองที่ซ้อนกันนั้น จะเป็นการขยายตัวของชุมชนในภายหลัง โบราณ สถานที่พบทั้งที่อยู่ภายในเมืองและนอกเมืองนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของ ประชากร และโบราณสถานเหล่านั้นได้ชี้ให้เห็นถึงลำดับสมัยและช่วงระยะเวลาของการก่อสร้างที่แตกต่างกัน ประกอบกับโบราณวัตถุจำนวนมากที่พบทั้งที่เป็นประติมากรรมเนื่องในศาสนา ซึ่งมีความงดงามยิ่งกว่าที่พบ ในแห่งใด ๆ และวัตถุหลักฐานอื่น ๆ ทำให้สรุปได้ว่าเมืองศรีเทพเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการที่ติดต่อกันมาเป็น เวลายาวนาน นับตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา และถูกทอดทิ้งร้างลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘


ลักษณะทั่วไปลักษณะผังเมืองประกอบไปด้วยพื้นที่ ๒,๘๘๙ ไร่ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ เมืองส่วนในและเมืองส่วน นอก เมืองส่วนในมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕ กม. มีช่องทางเข้าออก ๘ ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำและหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป มีโบราณสถานที่ขุดแต่งแล้วและยัง ไม่ได้ขุดแต่งประมาณ ๗๐ แห่ง ส่วนเมืองชั้นนอกลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน มีช่องทาง เข้าออก ๗ ช่องทาง มีโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกับเมืองส่วนใน เช่น โบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง เป็นต้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะและตกแต่งบริเวณสวยงาม เป็นแหล่งศึกษาประวัติ ศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจยิ่ง


หลักฐานที่พบ
๑. ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะขอม หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์ สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ส่วนฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมเขมร ทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้ พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖- ๑๗ ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการพยายาม จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ แต่ไม่สำเร็จโดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย


๒. ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ ๒ องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางทิศ ตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูเข้าทางเดียว จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบทับหลังที่มีจำหลัก เป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช อายุของปรางค์อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖- ๑๗ เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนของนครวัดและได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับ กำแพงแก้วล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่อยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางนี้ โดยเสริมทางด้านหน้าให้ ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น๓. โบราณสถานเขาคลังใน ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นผังพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศ ตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุ ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคลและสัตว์ประดับ เป็นศิลปะแบบทวาราวดี จาก ลักษณะผังเมืองจะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมืองเช่นเดียวกับเมืองทวาราวดีอื่น ๆ เช่น นครปฐม โบราณ เมืองคูบัว ราชบุรี และ จากรายละเอียดปูนปั้นบุคคลหรือลวดลาย มีลักษณะแบบเดียวกับเมืองคูบัว โบราณ บ้านโคก จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี อายุสมัยการก่อสร้างประมาณพุทธ ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒๔. เขาถมอรัตน์ เป็นเขาเล็ก ๆ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลสระกรวด อำเภอ ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากถนนลำนารายณ์-เพชรบูรณ์ ประมาณ ๗ กม. เกือบถึงยอดเขามีถ้ำ ปาก ถ้ำอยู่ทางทิศเหนือ ภายในถ้ำมีความกว้างขวางพอสมควร มีเนื้อที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ ๑๐ เมตร ความลึกประมาณ ๒๑ เมตร เพดานถ้ำสูงราว ๑๒ เมตร ตรงกลางมีหินย้อยเป็นเสาใหญ่ ตั้งอยู่ในถ้ำมี ภาพจำหลัก พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ สมัยทวาราวดี มีพระพุทธรูปประทับยืนสูงประมาณ ๒ เมตรเศษ และมีรูปสลักพระพุทธรูปยืนขนาดเล็ก และพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิรวมทั้งหมด ๑๑ องค์


เส้นทางเข้าสู่เมืองเก่าศรีเทพเมืองเก่าศรีเทพอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๒๙ กม. ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรี ประมาณ ๒๕ กม. และห่างจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ๑๑๗ กม. ริมทางสายสระบุรี-หล่มสัก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑) แยกขวามืออีก ๘ กิโลเมตรจะถึงแยกขวาเข้าอุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ ระยะทาง ๑ กม
 
เพชรบูรณ์ดอทคอม

 

 
 
 

 

 

ประวัติอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง

 

ที่ตั้ง
.
       ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพ่อขุนผาเมือง  (สี่แยกหล่มสัก)   บ้านน้ำชุน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหล่มสัก ประมาณ 3 กิโลเมตร พระรูปทำด้วยโลหะ ประดิษฐานในอิริยาบทยืน พระหัตถ์ขวาทรงดาบปักดิน พระหัตถ์ซ้ายชี้ลงพื้น  เป็นที่เคารพสักการะ ของชาวเพชรบูรณ์ และผู้ที่เดินทางผ่านไปมา ในเส้นทางดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง 
.

ประวัติ
.      พ่อขุนผาเมือง วีระกษัตริย์ที่ชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวจังหวัดเพชรบูรณ์เคารพสักการะ เพื่อระลึกถึงเกียรติคุณความดีวีรกรรม ความกล้าหาญ ความเสียสละ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสถาปนาอาณาจักร  สุโขทัยร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) ระบุว่า บรรพบุรุษของพ่อขุนผาเมืองคือ พ่อขุนศรีนาวนำถม ซึ่งครอบครองเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย มีโอรสและธิดา 2 องค์ คือ พ่อขุนผาเมือง และนางเสือง ส่วนบรรพบุรุษของขุนบางกลางหาว ทราบแต่เพียงว่าครองเมืองบางยาง      ต่อมาพ่อขุนศรีนาวนำถม จึงยกนางเสืองให้อภิเษกสมรสกับพ่อขุนบางกลางหาว  ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อขุนผาเมือง กับพ่อขุน บางกลางหาวนอกจากจะเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว ยังเกี่ยวดองเป็นญาติกันอีกด้วย
      เมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์แล้ว ขอมสบาดโขลญลำพง เชื่อว่าเป็นขุนนางเขมร ที่ถูกส่งมาดูแลศาสนสถาน ประจำเมืองสุโขทัย เข้ายึดเมืองสุโขทัย  แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ ครั้งนั้นพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ซึ่งเป็นโอรสองค์โตของพ่อขุนศรีนาวนำถม ได้ร่วมมือ กับพระสหาย คือ พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง เข้าตียึดเมืองสุโขทัย และขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง โดยที่พ่อขุนผาเมืองเป็นทัพ หนุนให้พ่อขุนบางกลางหาว แต่เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวจะเสียที จึงร้องขอให้พ่อขุนผาเมือง มาช่วยตีกระหนาบขอม สบาดโขลญลำพง จนพ่ายแพ้ไป
      เมื่อขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงออกไปแล้ว พ่อขุนผาเมือง จึงอัญเชิญพ่อขุนบางกลางหาวเข้าครองเมืองสุโขทัย โดยสถาปนา พ่อขุนบางกลางหาว ครองเมืองสุโขทัย พร้อมมอบพระขรรค์ชัยศรี และพระนามพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมบรมกษัตริย์ ราชวงศ์พระร่วงที่ครอง เมืองสุโขทัยสืบมา เมื่อเสร็จศึกกับขอมสบาดโขลญลำพงแล้ว พ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกกับนางสิงขรมหาเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมที่ครองกรุงยโสธรนครธม
      นักประวัติศาสตร์บางท่านให้ข้อสันนิษฐาน ที่น่าเป็นไปได้ว่าสาเหตุที่พ่อขุนผาเมืองไปยอมปกครองเมืองสุโขทัย อาจเป็นเพราะคนไทย ต้องการหลุดพ้นจากอำนาจขอม ประกอบกับพ่อขุนผาเมืองมีฐานะเป็นลูกเขยของกษัตริย์ขอม จึงจำเป็นหลีกทางให้พ่อขุนบางกลางหาว และเหตุผลอีกประการหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าเมืองราดนั้น อาจจะเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับเขตอิทธิพลขอม พ่อขุนผาเมืองจึงจำเป็นต้อง กลับมาเมืองราด เพื่อป้องกันการรุกรานจากขอม หลังจากนั้นเรื่องราวของพ่อขุนผาเมืองก็เลือนไปจากบันทึก ประวัติศาสตร์
      ข้อสันนิษฐานว่าเมืองราดอยู่ที่ใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานและหาข้อสรุปได้ นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่า เมืองราดน่าจะอยู่ บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก มากกว่าบริเวณอื่น ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น จากศิลาจารึกหลักที่ 2 ได้ระบุว่าพ่อขุนบางกลางหาว กับพ่อขุนผาเมืองได้ ปรึกษาหารือร่วมกันในการเข้าตียึดเมืองสุโขทัย ซึ่งควรที่จะมีการติดต่อสื่อสารกันบ่อย ๆ ฉะนั้นเมืองราด และเมืองบางยางไม่ควรจะอยู่ห่างกันมากนัก และจากข้อความในศิลาจารึกก็ได้ระบุว่า กองทัพของพ่อขุนทั้งสองได้แยกกันเข้าตีเมืองสุโขทัย โดยที่พ่อขุนบางกลางหาวเขาตีทางด้านทิศเหนือ และยึดเมืองศรีสัชนาลัยไว้ได้ ส่วนพ่อขุนผาเมืองบุกเข้าตีทางด้านใต้เมืองสุโขทัย โดยยกผ่านเมืองบางขลง (สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณเมืองนครสวรรค์) ก็ยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าเมืองราดอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก แต่คงไม่ใช่เมืองศรีเทพ เพราะหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบไม่สอดคล้องกัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย




ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ รูปร.2

พระราชประวัติรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(ประสูติ พ.ศ. 2310 ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2353 - พ.ศ. 2367)
มีพระนามเดิมว่า ฉิม

พระราชประวัติ
 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระนามเต็มเมื่อขึ้นครองราชย์ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ซึ่งเหมือนกับพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกันในแต่ละพระองค์

          พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงประสูติเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 7 คํ่า เดือน 3 ปีกุน มีพระนามเดิมว่า "ฉิม" พระองค์ทรงเป็นพระบรมราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประสูติ ณ บ้านอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นหลวงยกกรับัตรเมืองราชบุรี พระบิดาได้ให้เข้าศึกษากับสมเด็จพระวันรัต ( ทองอยู่ ) ณ วัดบางหว้าใหญ่ พระองค์ทรงมีพระชายาเท่าที่ปรากฏ
          1. กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสี
          2. กรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระสนมเอก ขณะขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2352 มีพระชนมายุได้ 42 พรรษา

พระราชกรณียกิจที่สําคัญ
          พ.ศ. 2317 ขณะที่เพิ่งมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้ติดตามไปสงครามเชียงใหม่ อยู่ในเหตุการณ์ครั้งที่บิดามีราชการไปปราบปรามเมืองนางรอง นครจําปาศักดิ์ และบางแก้ว ราชบุรี จนถึงอายุ 11 พรรษา
          พ.ศ. 2322 พระราชบิดาไปราชการสงครามกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ติดตามไป
          พ.ศ. 2323 พระชนมายุ 13 พรรษา ได้เข้าเป็นศิษย์สมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่ )
          พ.ศ. 2324 พระราชบิดาได้เลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ ไปร่วมปราบปรามเขมรกับพระบิดา
          พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร"
          พ.ศ. 2329 พระชนมายุ 19 พรรษา ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามตําบลลาดหญ้า และทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ
          พ.ศ. 2330 ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถ ไปสงครามที่ตําบลท่าดินแดง และตีเมืองทวาย
          พ.ศ. 2331 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่อุปสมบทในวัดนี้ เสด็จไปจําพรรษา เมื่อครบสามเดือน ณ วัดสมอราย ปัจจุบันคือวัดราชาธิราช ครั้นทรงลาผนวชในปีนั้น ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในพระพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์
          พ.ศ. 2336 โดยเสด็จพระราชบิดาไปตีเมืองทวาย ครั้งที่ 2
          พ.ศ. 2349 ( วันอาทิตย์ เดือน 8 ขึ้น 7 คํ่า ปีขาล ) ทรงพระชนมายุได้ 40 พรรษาได้รับสถาปนาเป็น "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" ซึ่งดํารงตําแหน่งพระมหาอุปราชขึ้นแทน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ที่ได้สวรรคตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2346

การทํานุบํารุงบ้านเมือง
          การปฎิสังขรณ์วัด โปรดให้แกะลายสลักที่บานประตู พระวิหารพระศรีศากยมุนี ณ วัดสุทัศน์ สร้างพระประทานในพระอุโบสถวัดแจ้ง และพระพักตร์พระพุทธธรรมิศรราชรายได้ของแผ่นดิน ได้จากการเก็บภาษีอากรทางด้านการค้า ที่ทําตามแบบเดิม คือให้พระคลังสินค้ามีอํานาจในการซื้อขายการปกครอง นั้นคงทรงไว้แบบเก่า แต่งตั้งเจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงศ์เข้ากํากับราชการ กฎหมาย ทรงตราพระราชกําหนดสักเลข และพระราชกําหนดห้ามมิสูบและขายฝิ่นสถาปัตยกรรม ขยายเขตพระบรมมหาราชวังสร้างสวนขวา พระสมุทรเจดีย์ และสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ประเพณีพิธีกรรม ได้แก่พระราชกรณียกิจลงสรง พระกําหนดพิธีวิสาขบูชา พระราชพิธีอาพาธพินาศ และการตั้งโรงทานการใช้ธงช้างเป็นธงชาติ ช้างเผือก 3 เชือกได้แก่ พระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ศาสนา ทํานุบํารุงพุทธศาสนา เช่น การปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม การสังคายนาสวดมนต์ การสร้างพระไตรปิฎก การส่งสมณทูตไปประเทศลังกาวรรณคดีและกวี มีรัตนกวีคู่พระหฤทัย เช่น พระสุนทรโวหาร สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส นายนรินทร์ธิเบศร์ ( อิน ) พระยาตรัง

บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ ได้แก่
          1. บทละครในเรื่องรามเกียรติ์
          2. บทละครในเรื่องอิเหนา
          3. บทละครนอกเรื่อง สังข์ทอง คาวี ไชยเชษฐ์ ไกรทอง มณีพิชัย
          4. กาพย์แห่เรือชมเครื่องคาวหวาน
          5. บทกาพย์โขน ตอนนางลอย พรหมาสตร์ นาคบาศ และเอราวัณ
          6. กลอนเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน

การติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
การติดต่อกับพม่า
          พ.ศ. 2352 หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติพระชนมายุได้ 43 พรรษา นาน 2 เดือน พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นจอมทัพไปทรงปราบปรามพม่าได้

          พ.ศ. 2363 พม่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ โดยมีพระเจ้าจักกายแมง ต่อจากพระเจ้าปดุง ได้ข่าวว่า ไทยเกิดโรคระบาด จึงยกทัพมาตี ไทยได้จัดกองทัพไปป้องกันตามทางที่พม่าจะเดินทางเข้ามา เช่น กาญจนบุรี เพชรบุรี ถลาง สงขลา พัทลุง และตาก พม่ารู้ข่าวก่อนจึงไม่กล้ายกทัพมา

การติดต่อกับญวน
          พ.ศ. 2353 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าเวียตนามยาลองกษัตริย์ญวน ได้แต่งตั้งให้ทูตเดินทางมาเคารพพระบรมศพ พร้อมกับถวายเครื่องราชบรรณาการเพื่อขอเมืองพุทธไธมาศกลับคืน จึงยอมให้เพื่อสมานพระราชไมตรี

การติดต่อกับกัมพูชา ( เขมร )
          พ.ศ. 2353 สมเด็จพระอุทัยราชา กษัตริย์เขมร ถูกรัชกาลที่ 1 บริภาษไปเมื่อคราวเข้าเฝ้า จึงผูกใจเจ็บไว้ ครั้นรัชการที่ 1 สวรรคต จึงหันไปพึ่งอํานาจญวนด้วยสมเด็จพระอุทัยราชากลัวว่าไทยจะยกทัพไปปราบปราม ญวนให้นักองโปโหคุมทหารมากํากับเขมร สมเด็จพระอุทัยราชาคิดเสียดายเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง จึงปรึกษากับญวนซึ่งมีนักองโปโหเป็นกองกําลัง นักองโปโหก็เสนอแนะให้ฟ้าทะละหะ ยกทัพไปไทยโดยทําทีว่าจะไปเก็บค้างคาวและยมศิลาตามประเพณี ถ้าเห็นว่าอ่อนแอก็ให้โจมตีเมืองพระตะบอง แต่ฝ่ายไทยไหวทัน จึงตีกองทัพเขมรแตกพ่ายไป

การติดต่อกับจีน ในรัชกาลที่ 2 โปรดให้ไปเจริญทางพระราชไมตรีถึง 2 ครั้งคือ
          พ.ศ. 2353 โปรดให้ราชทูตอันเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าเกียเข้งกรุงปักกิ่ง เพื่อให้จีนทราบว่าไทยเปลี่ยนแผ่นดินใหม่
          พ.ศ. 2364 โปรดให้อัญเชิญพระราชสาส์น โดยมีพระยาสวัสดิสมุทร เป็นทูตไปแสดงความยินดีต่อพระเจ้าเตากวาง ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเกียเข้ง พร้อมคํานับพระศพด้วย

การติดต่อกับโปรตุเกส
         พ.ศ. 2361 ประเทศโปรตุเกสแต่งตั้งให้ มร. คาร์ลอส มานูเอล ซิลเวียรา เป็นทูตถือสาส์นนําเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีสมัยรัตนโกสินทร์ โปรดให้เป็น หลวงอภัยวาณิช

การติดต่อกับสหรัฐอเมริกา
         พ.ศ. 2364 กัปตันแฮน เป็นพ่อค้าชาวอเมริกันคนแรกได้ถวายปืนคาบศิลา 500 กระบอก จึงโปรดให้เป็น หลวงภักดีราช

การติดต่อกับอังกฤษ
         พ.ศ. 2365 บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตั้งผู้สําเร็จราชการอินเดียคือ มาร์ควิส เฮสติงค์ ได้ส่งจอห์นครอว์เฟิด มาเจริญราชไมตรี ผลของการเจรจาไทยเห็นว่าอังกฤษเอาเปรียบทุกอย่างไทยเลย ไม่ติดต่อด้วย แต่ยังมีพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ ยินยอมทําตามระเบียบของไทย และค้าขายเรื่อยมาจนได้โปรดให้เป็น หลวงอาวุธวิเศษ

เสด็จสวรรคต
         เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้วเจ้าอนุวงศ์หมดความเกรงกลัว เริ่มแข็งเมืองและเป็นกบฎขึ้นในรัชกาลพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต เมื่อวันพุธ เดือน 8 แรม 11 คํ่า ปีวอก ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ขณะนั้นทรงพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงเสวยราชย์สมบัติ 16 ปี ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 73 พระองค์

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๒

          เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราช สัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ฉิม" อันหมายถึงพญาครุฑในวรรณคดีไทย ซึ่งอยู่ที่วิมานชื่อ ฉิมพลี